วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

กิจกรรม กำมือ-แบมือ โรงเรียนบ้านโพนงามเกี้ยงเก่า

เรื่องนี้เป็นบรรยากาศภายในห้องเรียนชั้น ป.4 

      วันอังคาร เวลา 10.30 น. เป็นที่ทราบกันดีว่าถึงเวลาของการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านโพนงามเกี้ยงเก่า นักเรียนมานั่งรอเรียนตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันนี้แปลกไปกว่าทุกๆวันที่ผ่านมา เนื่องจากนักเรียนและครูต่างก็ไม่ได้เจอหน้ากันมาเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 49 วัน ช่วงเวลาที่ห่างหายกันไป ทำให้นักเรียนตื่นเต้นมาก เหมือนประหนึ่งว่า "เป็นการเจอกันครั้งแรก" แต่จะให้พูดกันจริงๆ ก็ถือว่าเป็นการเจอกันครั้งแรกในรอบปี 2557 นี้เลยทีเดียว
      ก่อนจะเริ่มเข้าสู่บทเรียน นักเรียนทุกคนตื่นเต้นอยากที่จะสัมผัสคอมพิวเตอร์ บางคนมือกำเมาส์ไว้แน่น บางคนมือจ่ออยู่ที่สวิทกดเปิด และภายในห้องเรียนเต็มไปด้วยคำถาม "คุณครูไปไหนมาคะ? ,คุณครูได้จับฉลากของขวัญปีใหม่มั้ยครับ? , คุณครูมีของขวัญปีใหม่มาให้พวกหนูมั้ย ?" เมื่อคำถามเกิดขึ้น ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นตามมา ครูเอจึงใช้วิธีการเก็บเด็ก เพื่อเรียกสมาธิเด็กให้กลับมาอยู่กับตนเอง โดยใช้กิจกรรม กำมือ-แบมือ

     เริ่มต้นจากครูเอเป็นคนทำก่อน กำมือ-แบมือช้าๆ พร้อมกับพูดว่าคุณครูเอขอสัญญาณสำหรับนักเรียนที่พร้อม ให้ลองสังเกตครูเอแล้วทำตามสิ่งที่ครูเอกำลังทำ นักเรียนทั้งหมด 15 คน เริ่มกำมือ-แบมือ จาก 1 คน เป็น 2 คน จาก 2 คน เป็น 3 คน และเป็น 4,5,6,7,8,9.......และทุกคนก็อยู่ในจุดเดียวกัน เสียงที่ดัง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็สงบลง กลับกลายเป็นความเงียบและความพร้อมเพรียง หลังจากทุกคนพร้อมครูเอก็เปลี่ยนให้สลับ จากที่ให้ทำตามครูเอ เปลี่ยนเป็นให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามครูเอ นักเรียนทุกคนต่างปฏิบัติตาม ใช้เวลาในการเรียกสมาธิเพียง 5 นาทีเท่านั้น
      พอทุกคนมีสมาธิ บรรยากาศในห้องเรียนก็น่าเรียนมากขึ้น สมองนักเรียนก็ปลอดโปร่ง พร้อมสำหรับการเรียนรู้ ทำให้การเริ่มบทเรียนเป็นไปด้วยความราบรื่น และนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียน



      จากกิจกรรมดังกล่าว ถือว่ากิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จ และทำให้ได้เรียนรู้ว่า การที่นักเรียนมีสมาธิจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะส่งผลให้นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เป็นระบบทั้งในด้านทักษะการฟัง การคิด การเขียน การอ่าน หรือการปฏิบัติกิจกรรมอื่นๆ การปรับสมาธิและการคงสมาธิอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมเรื่องของความตื่นตัวในการเริ่มต้นปฏิบัติกิจกรรม การแสดงออก การมีเหตุมีผล การจัดลำดับก่อนหลัง และการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก
     ดังนั้น เราควรมุ่งเน้นการสร้างสมาธิก่อนเรียน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนของนักเรียน

           

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครูเอค่ะ ดีใจที่ได้เห็นโรงเรียนทั่วไปใช้เทคนิคต่างๆ เหล่านี้ได้ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ความคิดของเด็กๆ ไม่ต่างกันค่ะ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและคำถามที่ใช้กับเด็ก เพราะจากการปฏิบัติกิจกรรม เด็กก็มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ตามเหตุผลของแต่ละคน ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เด็กทุกคนต่างรู้จักคิด เพียงแต่ คำถามนั้นจะกระตุ้นเด็กให้คิดได้แค่ไหน

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น