วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

โรงเรียนรัฐบาลก็สามารถเป็น PBL ได้ (ตอนที่ 2)

ตอนที่ 2: การจัดการเรียนการสอน

ได้กล่าวไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนรัฐบาลทั้ง 2 ทั้งโรงเรียนบ้านนาขนวน และโรงเรียนบ้านปะทาย ทีนี้เรามาเข้าสู่เนื้อหากันให้ลึกขึ้นดีกว่าค่ะ

นวัตกรรมของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาที่เด่นเลย คือ จิตศึกษา และ PBL ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนโรงเรียนให้จัดการเรียนรู้แบบ PBL นั้น ต้องมีสองสิ่งนี้

โรงเรียนที่เปลี่ยนรูปแบบเป็น PBL อย่างโรงเรียนบ้านนาขนวน และโรงเรียนบ้านปะทายนั้น ก็ไม่ได้ละเลย 2 สิ่งนี้ค่ะ

โดยเริ่มจากกิจกรรมหน้าเสาธงก่อน ตอนเช้า ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 20 นาที เคารพธงชาติ สวดมนต์ แผ่เมตตา แล้วก็เริ่มกิจกรรมจิตศึกษา ส่วนใหญ่ที่พบ เด็กเล็กจะพาเดิน ส่วนเด็กโตจะทำกิจกรรมในห้องค่ะ

3 วิชาในตอนเช้า ก็จะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วบ่ายเป็น PBL ค่ะ มีครูเวียนสอนบ้างในตอนเช้า บางครั้งก็จะเป็นครูประจำชั้นค่ะ



ตัวอย่างตารางเรียน โรงเรียนบ้านนาขนวน

วิธีการจัดการเรียนรู้ สำหรับ 3 วิชานี้ ทางโรงเรียนบ้านนาขนวนบอกว่า ตอนแรกใช้วิธีเดิมที่เคยสอนค่ะ มีเพิ่งมาเริ่มสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากวรรณกรรม รูปแบบเหมือนลำปลายมาศ เมื่อไม่นานมานี้ ตอนแรก อยากให้ครูชินกับ PBL ก่อน

สำหรับโรงเรียนบ้านปะทาย มีจำนวนครูที่เพียงพอ มีครูภาษาอังกฤษเฉพาะทาง ในวิชาหลัก 3 วิชานั้น ก็จะค้นหารูปแบบการสอนใหม่ๆ อยู่เสมอๆ ค่ะ ยังไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ยังทดลองอยู่ว่าวิธีไหนดี ก็นำมาใช้ และปรับปรุงกันไป

ช่วงบ่ายเป็น PBL การสอน PBL นั้นไม่ยากค่ะ ไม่ว่าจะผู้อำนวยการ หรือ ครูโรงเรียน ท่านว่า ที่ยากคือการทำแผน คุณครูจะเปลี่ยนตนเองเป็นนักวางแผนตัวยงเลยค่ะ เพื่อทำทุกอย่างให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ในเรื่องที่เขาที่ควรทราบ การจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ การหาสื่อกระตุ้น ฯลฯ

การสอน

การสอน PBL ช่วงแรกๆ ของโรงเรียนทั้งสอง ก็ไม่ต่างกับสภาพที่เราได้พบเจอค่ะ นักเรียนไม่ตอบคำถาม นักเรียนคิดไม่ได้ คิดไม่ออก เพราะวิธียังไม่คุ้นชิน ช่วงแรกๆ คุณครูต้องพยายามหน่อย กับการตั้งคำถาม นำทางให้นักเรียนคิด สิ่งสำคัญคือ คำถามที่ป้อนให้นักเรียน และต้องระลึกเสมอว่า เราต้องช่วยให้เค้าเรียนรู้ เชื่อมโยงความรู้ ไม่ใช่การฟังหรือท่องจำ หรือ รับรู้เท่านั้นค่ะ

แต่พอผ่านไปสักระยะ เด็กคิดเองได้ รู้วิธีการหาข้อมูลเองได้ งานของครูก็ง่ายขึ้นค่ะ เพราะนักเรียนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง และกลายเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด นี่ล่ะค่ะ Child Center ที่เราพูดคุยกันมานาน





วันปิด Quarter ทุก Quarter จะมีการจัดงานนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลงานของนักเรียน แรกๆ ก็ต้องช่วยเค้าหน่อย แต่หลังๆ มา นักเรียนกระตือรือร้นเองเลยค่ะ ว่าอยากจะทำอะไร จะโชว์อะไร แสดงอะไร ในวันปิด Quarter การเชิญชุมชน ผู้ปกครอง หรือวิทยากรต่างๆ ก็มีเด็กน้อยนี่ล่ะค่ะ ที่เป็นคนเขียนจดหมายเชิญ คุณครูก็เป็นผู้ขัดเกลาให้เท่านั้น

การทำแผน

ช่วงแรก ผู้อำนวยการสังคม ท่านให้คุณครูใช้แผนอะไรก็ได้ตามความถนัด แน่นอนว่า มีมากมายเลยค่ะ วิชาแกนก็แตกต่างกันไป สักระยะ เริ่มตระหนักถึงความสับสนที่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่า สอนอะไรไปแล้วบ้างในปีนั้น การจัดสภาพแวดล้อม การหาสื่อกระตุ้น ทุกอย่างดูจะวุ่นวายไปหมด ตอนหลังผอ. สังคม โรงเรียนนาขนวน จึงกำหนดวิชาแกนสำหรับแต่ละ Quarter ดังนี้ค่ะ

1. วิทยาศาสตร์
2. สังคม
3. การงานอาชีพและเทคโนโลยี
4. ทั่วไป / สุขศึกษา

การทำเช่นนี้ จะช่วยให้โรงเรียนครอบคลุมมาตรฐานหลักสูตรได้ชัดเจน เพราะทุกๆ ชั้นเดินไปในทิศทางเดียวกันค่ะ อีกทั้งง่ายต่อการเตรียมการของฝ่ายสนับสนุนด้วย เช่น การจัดเตรียมสื่อ สภาพแวดล้อมต่างๆ

การจัดทำแผน PBL นั้น ยังไงก็ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางค่ะ โดยหลักการทำแผนนั้น ต้องครอบคลุมมาตรฐานทั้งหมดในระดับชั้นของตนเอง และสามารถมองเหนือขึ้นไปได้อีก 2 ระดับ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นช่วงชั้นเดียวกันหรือไม่

การประเมิน

การประเมินที่หลายๆ คนอาจจะมีคำถาม ว่าเราจัดการเรียนการสอนแบบ PBL แล้ว จะมีสอบด้วยรึเปล่า ผอ.สังคม โรงเรียนบ้านนาขนวนได้แนะนำวิธีการที่โรงเรียนปฏิบัติค่ะ เช่น

1 วิชา มี 100 คะแนน กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนวิชานั้น เป็น คะแนนสอบ 20 คะแนนเก็บ 80 ในส่วนของคะแนนสอบ ก็จัดสอบแบบปกติ จะกลางภาค ปลายภาค เหมือนเดิมทุกประการ ส่วนคะแนนเก็บ เป็นคะแนนที่ได้จากเกณฑ์ Rubrics ค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้ของทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอยู่

และสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนน่าจะอยากทราบ คือ ผลการสอบ ONET เป็นอย่างไร สำหรับผู้อำนวยการทั้งสองท่าน ไม่ได้เคร่งกับเรื่องนี้มาก กล่าวแต่ว่า ขึ้นอยู่กับนักเรียนในแต่ละปี จะจัดการเรียนรู้แบบเดิม หรือแบบใหม่ ผล ONET ก็ไม่ต่างกัน ปีไหนเด็กเก่ง คะแนนก็ดี ปีไหนไม่เก่ง คะแนนก็ลดกันไปตามลำดับ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ชัดเลย คือ นักเรียนคิดเป็น ตั้งคำถามเป็น หาคำตอบเป็น ก็น่าประทับใจนะคะ

หวังว่า blog ทั้ง 2 ตอนนี้ จะช่วยให้คุณครูในภูมิภาคทุกคน เริ่มเห็นสภาพการจัด PBL ในโรงเรียนรัฐบาลมากขึ้น สุดท้ายแล้ว โรงเรียนจะต้องตัดสินใจว่าจะทำในรูปแบบใด และมูลนิธิจะช่วยอย่างไร เราคงได้คุยรายละเอียดพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะเจอกันนี้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น