วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

PBL : ทุ่งรวงทอง ป.6

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยโครงงาน
เรื่อง : ทุ่งรวงทอง ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เป็นการนำการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยโครงงาน (PBL) ในสัปดาห์แรกและเป็นโรงเรียนแรกในโครงการฯ ที่นำมาใช้สอน

เป้าหมายรายสัปดาห์ : นักเรียนสามารถสื่อสาร นำเสนอและอธิบายสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น


นักเรียนดูคลิป “เครือข่ายฅนกินข้าวเกื้อกูลชาวนา”
ครูกระตุ้นด้วยคำถาม “จากสิ่งที่ได้ดูอะไรคือปัญหาและส่งผลกระทบอย่างไร” นักเรียนยัง งง ครูใช้คำถามสร้างแรงจูงใจเป็นคำถามที่อยู่ใกล้ตัว เช่น วีดีโอเกี่ยวกับอะไร, เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลที่อยู่ในเรื่องราวนี้ เป็นต้น ทำให้เด็กๆ แย่งกันตอบ

ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม / ทีม : การจัดกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนสนุก รับฟังความคิดเห็น เคารพสิทธิของตัวเองและผู้อื่น



นักเรียนนำเสนอเรื่องที่อยากเรียนรู้ว่าทำไมทั้งกลุ่มจึงอยากเรียนเรื่องนี้ น่าสนใจ จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับเราหรือสิ่งอื่นอย่างไร?


กิจกรรมนี้ปฏิบัติการสอน วันอังคารที่ 14 มกราคม 2557 โรงเรียนบ้านโพนงามเกี้ยงเก่า :
จากการจัดกิจกรรมนทำให้ผู้สอนเข้าใจถึงการตั้งคำถามบางครั้งแค่คำถามเดียวนักเรียนยังไม่เข้าใจ การมีคำถามมากๆ และโยนคำถามให้กับเด็กได้ปะทะกับปัญหา ทำให้นักเรียนรู้จักหาวิธีการแก้ปัญหา การเลือกกลุ่มเป็นอะไรที่เป็นปัญหามากสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ (ผู้ชาย) บางคนอ่านหนังสือไม่ออก และชอบจับกันเป็นกลุ่มก้อน มีทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียนและเด็กที่ชอบก่อความวุ่นวายในห้องเรียน แต่การจัดกิจกรรมก็ดำเนินไปด้วยดีนักเรียนทุกคนเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นชาวนาและกลัวว่าถ้าในอนาคตข้างหน้าไม่มีข้าวกินจะเป็นอย่างไร

ปัญหาที่พบ / วิธีการแก้ปัญหา :
- มีนักเรียนชาย 3 คน ที่คิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุดในห้องเรียน เป็นเด็กเกเร ชอบก่อความวุ่นวาย และไม่ให้เพื่อนคนอื่นรวมกลุ่มด้วย จะเห็นได้จากการที่มีการถาม-ตอบในห้องเรียน เด็ก 3 คนจะชอบชิงพูดขึ้นก่อน และการตอบคำถามแต่ละครั้งจะออกนอกประเด็นและชอบโวยวาย

วิธีแก้ปัญหาของครู คือ ออกกฎกติกาในการถาม-ตอบ โดยให้ยกมือและต้องได้รับอนุญาตจากครูผู้สอนก่อน พร้อมกับทำเป็นไม่สนใจเด็ก 3 คนในกรณีที่เขาไม่เคารพในกฏกติกาในห้อง และเพื่อนๆ ก็จะพูดเป็นการเตือนพวกเขาทำให้พวกเขาเงียบสงบลงบ้าง แต่ชิ้นงานที่ได้รับมอบหมายก็สามารถส่งตามกำหนดเวลาได้ และการออกมารายงานหน้าชั้นก็เป็นประมาณกวนๆ ท้ายชั่วโมงครูผู้สอนให้เพื่อนๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานนำเสนอของเพื่อนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลิก ข้อมูล การพูด ฯลฯ ทำให้แต่ละกลุ่มนำข้อเสนอแนะของเพื่อนไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป

- มีเด็กนักเรียนที่ไม่ค่อยพูด ไม่มีกลุ่มเพราะเพื่อนในกลุ่มแยกออกมาไม่ให้รวมกลุ่มด้วย 

แก้ปัญหาโดย แยกเด็กนักเรียนคนนี้ออกมาจากกลุ่มเพื่อน และให้ทำคนเดียว เป็นเด็กที่อ่านหนังสือไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ และไม่พูด และเขาก็ชอบการทำงานคนเดียว

- นักเรียนเสียงดังในช่วงเวลาที่แบ่งกลุ่มและการทำกิจกรรม จนอยากที่จะควบคุม 

แก้ปัญหาโดย ใช้วิธีการเก็บเด็ก เริ่มวิธีแรก คือปล่อยให้ทุกคนคุยไป ครูเงียบ สักพักนักเรียนเงียบตามโดยที่ครูไม่ได้พูดอะไร ทำให้เด็กรู้ตัวเองว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น และเขาควรทำอย่างไร วิธีที่สอง คือ ครูปรบมือและนับ 1 นักเรียนเฉย และปรบมืออีก 2 ครั้ง นับ 1 นับ 2 ทุกคนเงียบ ใช้ได้ดีกับการที่เด็กกำลังเจี้ยวจ๊าว

2 ความคิดเห็น:

  1. น่าสนใจมากเลย เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกคน

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณครูหน่อยค่ะที่แบ่งปันประสบการณ์ วิธีการแก้ปัญหาดีๆ เป็นประโยชน์มากๆ เลยค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น