วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กระบวนการทำแผน PBL

ภาคเรียนที่ 2 กำลังจะจบลง ภาคเรียนถัดไป เราจะเข้าสู่ PBL เต็มรูปแบบกันแล้ว คุณครูทุกท่านยังจำกระบวนการจัดทำแผนกันได้มั้ยคะ?

บล็อคนี้ขอนำเสนอกระบวนการทำแผน PBL ที่แอมเข้าใจจากการไปอบรมมาที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อยากให้คุณครูทุกคนเสนอข้อคิดเห็นถึงขั้นตอนเหล่านี้ด้วยว่า มีขั้นตอนใดขาดหายไป หรืออธิบายละเอียดไม่พอ ช่วยกันต่อเติมกระบวนการนี้ให้สมบูรณ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการทำแผนที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ค่ะ

กระบวนการจัดทำแผนโครงงาน

  1. ผู้สอนมีชั้นเรียนที่รับผิดชอบ ผู้สอนมองปัญหารอบๆ ตัว หรือปัญหาที่นักเรียนพบ หรือจะพบในอนาคต และสร้างหัวข้อ (topic) จากปัญหา 
  2. จัดทำภูมิหลังของปัญหา 
    • คำถามหลัก เป็นคำถามหรือปัญหาหลักของเรื่องนั้นๆ เป็นคำถามปลายเปิด 
    • ภูมิหลังของปัญหา ควรเขียนเป็นความเรียง ประกอบไปด้วยความเป็นมาของปัญหา ความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา และเหตุผลที่นักเรียนควรเรียนรู้ 
    • เป้าหมายความเข้าใจ ตามเกณฑ์การประเมินของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มุ่ง 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ อาจจะเขียนเป็นความเรียงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นหัวข้อ แต่เนื้อหาควรมีให้ครบ 
  3. จัดทำ mindmap เนื้อหา สำหรับครู พยายามแตกกิ่งออกไปให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสอนได้หมดหรือไม่ มีไว้เป็นแนวทางสำหรับครูให้เห็นภาพรวมและความสัมพันธ์ ส่วนประกอบของ mindmap ได้แก่ 
    • แก่นแกน โดยอาจใช้เป็นภาพสื่อได้
    • กิ่งแก้ว ฝึกคิดแนวกว้าง
    • กิ่งก้อย ฝึกคิดแนวลึก
  4. วิเคราะห์มาตรฐานของหลักสูตร โดยวิเคราะห์ทั้งหมด 5+1 ได้แก่ วิทยาศาสตร์ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โดยมีการวิเคราะห์มาตรฐานของหลักสูตร ดังนี้
    • วิเคราะห์ตามลำดับมาตรฐานในหลักสูตร
    • หลักสูตรจะกำหนดไว้กว้างๆ ให้ปรับให้เหมาะสมกับหัวข้อ
    • การวิเคราะห์มาตรฐานหลักสูตร จะวิเคราะห์ในระดับชั้นที่รับผิดชอบให้ครบก่อน แต่สามารถวิเคราะห์ในระดับชั้นที่สูงกว่าได้ (ส่วนมากประมาณ 2 ชั้น หรือมากกว่าก็ได้)
    • ขั้นตอนที่ 2-4 อาจทำไปพร้อมๆ กัน
  5. เขียนแผนรายสัปดาห์ (แบบกว้าง ยืดหยุ่นได้ เนื่องจากช่วงสัปดาห์แรกๆ นักเรียนจะเป็นคนกำหนดหัวข้อและเรื่องที่เรียน) แผนแต่ละสัปดาห์จะประกอบไปด้วย
    • เป้าหมาย เป็นภาพรวมที่ต้องการให้นักเรียนไปถึงในสัปดาห์นั้น
    • Input คือ สิ่งที่ป้อนเข้าไป หรือเตรียมให้นักเรียน มีหัวข้อย่อยดังนี้
      • โจทย์ สำหรับนักเรียนต้องแก้ไขปัญหา ตอบคำถาม หรือได้ผลลัพธ์สำหรับสัปดาห์นั้นๆ
      • Key Questions คือ คำถามหลักประจำสัปดาห์ที่พาจะพาไปตอบโจทย์ได้
      • เครื่องมือคิด คือ การใช้เครื่องมือต่างๆ ในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
      • ผู้ร่วมสร้างการเรียนรู้ มีใครบ้าง เช่น ครู นักเรียน วิทยากรภายนอก ฯลฯ
      • สื่อและแหล่งเรียนรู้ ได้แก่ สื่อที่ใช้ในคาบนั้นๆ แหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
    • Process ประกอบไปด้วย 3 กระบวนการใหญ่ๆ ได้แก่ ชง เชื่อม ใช้ แต่ละสัปดาห์ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 3 และเรียงตามลำดับ อาจจะชง เชื่อม ชง เชื่อม แล้วจึงใช้ก็เป็นไปได้
      • ชง คือ การกระตุ้นผู้เรียนด้วยคำถาม หรือ โยนโจทย์ให้นักเรียนปะทะกับปัญหา
      • เชื่อม คือ การที่ผู้เรียนได้เชื่อมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น การเชื่อมข้อมูลใหม่กับข้อมูลเดิม ข้อมูลของตนเองกับข้อมูลของเพื่อนๆ ตัวอย่างกิจกรรมอาจจะอยู่ในลักษณะการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การระดมสมอง เป็นต้น
      • ใช้ คือ การที่ผู้เรียนได้นำความรู้มาทำอะไรสักอย่าง เช่น การสรุปความรู้รายสัปดาห์ การทดลอง เป็นต้น
    • Output คือ สิ่งที่มีออกมาให้เห็น ผลสืบเนื่องจากกระบวนการ แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่
      • ภาระงาน คือ กิจกรรมที่ให้นักเรียนทำ อาจจะไม่ได้มีชิ้นงานออกมาให้เห็น เช่น การวิเคราะห์เนื้อเรื่องจากสื่อที่ดู
      • ชิ้นงาน คือ ตัวชิ้นงานที่นักเรียนปฏิบัติออกมาจนสำเร็จ เช่น เอกสารรายงานการวิเคราะห์เนื้อหา ภาพวาด เป็นต้น
    • Outcome คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ สอดคล้องกับ Rubric ของสถานศึกษา โดยของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เน้น 3 ด้านใหญ่ ได้แก่
      • ความรู้
        • การประกอบการเศรษฐศาสตร์
        • สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
        • ความเป็นพลเมือง วัฒนธรรม ประเพณี
        • สุขภาพ
      • ทักษะ
        • ทักษะชีวิต
        • ทักษะการเรียนรู้
        • ทักษะการแก้ปัญหา
        • ทักษะ ICT
        • ทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
      • คุณลักษณะ
        • เช่น คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น
  6. บันทึกหลังการสอน คือ การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ มีความก้าวหน้าอย่างไร มีเรื่องใดน่าสนใจหรือปัญหาอะไร เป็นภาพรวมของการสอนในสัปดาห์นั้นๆ
  7. ตรวจสอบแผนเบื้องต้น โดยเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้าสายงาน
  8. ประชุมกลุ่ม เพื่อนำเสนอแผนงาน พร้อมรับคำแนะนำจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าสาย เป็นต้น
  9. อัพโหลดขึ้นบล็อกเพื่อแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
  10. ปรับปรุงแผนงาน
  11. นำไปใช้สอนจริง
  12. บันทึกหลังสอน (รายสัปดาห์) และปรับปรุงหรือเขียนแผนของสัปดาห์ถัดไป (อัพโหลด แลกเปลี่ยนเรื่องราวบนบล็อก)


❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น