วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

โรงเรียนรัฐบาลก็สามารถเป็น PBL ได้ (ตอนที่ 1)

ตอนที่ 1: วิถีและสภาพแวดล้อม

วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา คณะจากมูลนิธิเวปทูไทยได้เยี่ยมชมโรงเรียนบ้านนาขนวน และโรงเรียนบ้านปะทาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ศรีสะเกษ เขต 4 ได้รับการต้อนรับอย่างดี และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆ ที่สนใจอยากจัดการเรียนรู้แบบ PBL ค่ะ

ก่อนอื่น เริ่มจากข้อมูลโรงเรียนกันก่อน เราจะได้ทราบว่าโรงเรียนนั้นมีลักษณะอย่างไร

โรงเรียนแรก โรงเรียนบ้านนาขนวน นำโดย ผู้อำนวยการสังคม อินทร์ขาว เป็นผู้อำนวยการที่ให้ความสนใจในกระบวนการ PBL และดำเนินการในโรงเรียน ปีนี้เป็นปีที่ 5 เป็นโรงเรียนประถมศึกษา มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 - ประถมศึกษาปีที่ 6

ผู้อำนวยการสังคม โรงเรียนบ้านนาขนวน


อีกโรงเรียนหนึ่ง โรงเรียนบ้านปะทาย นำโดย ผู้อำนวยการสมศักดิ์ เริ่มดำเนินการ PBL ในโรงเรียนเป็นปีที่ 2 โรงเรียนบ้านปะทายเป็นโรงเรียนขยายโอกาส จัดการเรียนการสอนจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ผู้อำนวยการสมศักดิ์ โรงเรียนบ้านปะทาย


ผู้อำนวยการทั้งสองโรงเรียนได้มีการปรับทั้งระบบ โดยทุกระดับชั้นมีการจัดกิจกรรมจิตศึกษา และ PBL
ทั้งสองโรงเรียนมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่คล้ายลำปลายมาศ มีพื้นที่ให้นักเรียนได้ฝึกสติ รอยเท้า ตัวเลข ตัวอักษร





ช่วงเช้า ก็มีการเคารพธงชาติปกติ เริ่มประมาณ 8.00-8.15 ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักเรียน ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีสำหรับกิจกรรมหน้าเสาธง และเริ่มกิจกรรมจิตศึกษาทันที

ภายในห้องเรียน ใครว่าไม่มีห้อง 6 เหลี่ยมแล้วทำไม่ได้? ผอ.สังคมยืนยันว่าได้ หลักฐานมีให้เห็นทั้งโรงเรียนบ้านนาขนวน และโรงเรียนบ้านปะทาย แค่เหลือพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ทำกิจกรรมเป็นวงกลมเท่านั้นเอง โต๊ะเรียนจัดแบบปกติ บางห้องจัดแบบแถวตอน บางห้องจัดเป็นกลุ่ม




สิ่งที่ขาดไม่ได้ คงเป็นบอร์ดที่แสดงผลงานนักเรียนที่ให้เค้าได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ



บอร์ดไม่พอ ก็โยงเส้นลากแขวนกันเลยทีเดียว

คาบเรียนเช้า ยังสอนวิชาปกติ แบบปกติ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แต่ท่าทีครูเปลี่ยนไป ไม่ดุ ไม่เสียงดัง แต่วิชายังสอนเหมือนเดิม ยังใช้หนังสือบ้าง สื่ออื่นๆ เพิ่มเติมบ้าง เพิ่งมีปีนี้ ที่เริ่มนำวรรณกรรมเข้ามาใช้

ช่วงบ่ายเป็น PBL จัดแบบบูรณาการ

ดูเผินๆ แล้ว เหมือนโรงเรียนลำปลายมาศเลยทีเดียวค่ะ ต่างแค่วิธีการสอนในบางวิชาช่วงเช้า แต่เอ... แล้วโรงเรียนเปิด-ปิดยังไง เข้าร่วมกิจกรรมบ้างรึเปล่า หลายๆ โรงเรียนอยากทราบจังเลยค่ะ

ผอ.สังคมบอกว่าก็ยังเปิด-ปิดพร้อมโรงเรียนอื่นเหมือนเดิม เช่น เปิดพฤษภาคม ปิดตุลาคม แล้ว 1 ภาคเรียนก็มี PBL ประมาณ 1.5-2 หน่วย แต่พอทำไปแล้วรู้สึกว่าครูเหนื่อย ไม่มีเวลาทำแผน ตอนหลังเลยให้หยุด 1 สัปดาห์ระหว่างหน่วย เพื่อให้ครูทำแผน

การเข้าร่วมกิจกรรมกับทางเขต เช่น แข่งขันวิชาการ หรือ กีฬาที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ ทางโรงเรียนบ้านนาขนวนก็ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันปกติ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ จะไม่นำเวลาเรียนหลักไปติว มีติวบ้าง แต่ต้องนอกเวลาเรียนปกติ แล้วสิ่งสำคัญก็คือ จะบอกกับเด็กว่า การแข่งขันคือการไปหาประสบการณ์ ไม่ใช่การไปชิงรางวัล เป็นการไปเปิดหูเปิดตา และชี้แจงกับทางผู้ปกครองและชุมชนให้เข้าใจด้วย
แต่การเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ส่งผลยังไง? ปกติแล้ว เราก็จะได้ยินมาว่าสอนไม่ทันบ้าง อะไรบ้าง ที่โรงเรียนบ้านนาขนวนและบ้านปะทายก็เจอเหตุการณ์เดียวกัน

ทางออกของโรงเรียนบ้านนาขนวนก็สบายๆ เป็นกันเอง เลื่อนวันปิดไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้การเรียนการสอนมีได้เต็มที่ สิ่งที่ประทับใจก็คือ จิตใจที่ยืดหยุ่น พร้อมรับสถานการณ์ของผู้อำนวยการ คุณครู และชุมชน

ส่วนบ้านปะทายก็รวบรัดหน่อย กำหนดปิดเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ทำก็คือ ลดจำนวนงานของนักเรียน และเป้าหมายต่างๆ ยังคงเดิม เพื่อให้ปิดภาคเรียนได้

เป็นยังไงกันบ้างคะ ผลจากโรงเรียนบ้านนาขนวนและโรงเรียนบ้านปะทาย กับการดำเนินงานภายใต้เขตพื้นที่ ไม่มีปัญหาใช่มั้ยคะ หวังว่าข้อมูลตรงนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกๆ คน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อำนวยการในโรงเรียนที่เราร่วมมืออยู่ได้พิจารณานะคะ

สำหรับตอนต่อไปจะคุยถึงเรื่องการเรียนการสอนนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น